ครบแล้วเสียงหนุน “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯ – หมดทางปิดสวิตช์ ส.ว.
วันที่ 13 พ.ค. หลังจากที่พรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.1 คน รวมตัวกัน 11 พรรค ประกาศจุดยืนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีและพร้อมร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ทำให้การจับขั้วอย่างเป็นทางการของฝ่ายพรรคพลังประชารัฐ ขยับไปอยู่ที่ 132 เสียง
ประกอบด้วย พลังประชารัฐ 115 เสียง, รวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง, ประชาชนปฏิรูป 1 เสียง และอีก 11 พรรค 11 เสียง ที่ประกาศล่าสุด คือ พรรคพลังชาติไทย พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคพลังไทยรักไทย พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคประชานิยม พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคประชาธรรมไทย พรรคพลเมืองไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคพลังธรรมใหม่ และพรรคไทรักธรรม
แม้จะยังไม่เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร 250 เสียง แต่ก็มากพอสำหรับโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่จะใช้เสียงกึ่งหนึ่งของ 2 สภา (ส.ส. 500 เสียง / ส.ว. 250 เสียง) รวมกัน คือ 376 จาก 750 เสียง
ถ้าเป็นไปตามการคำนวณก่อนหน้านี้ที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่หัวหน้า คสช. คือ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้เลือกในขั้นตอนสุดท้าย ลงคะแนนไปทางเดียวกันทั้ง 250 เสียง ก็ต้องการเสียง ส.ส.อีก 126 เสียง ซึ่งล่าสุดขั้วพลังประชารัฐ รวมไปได้แล้ว 132 เสียง จึงเป็นที่แน่นอนแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
การดำเนินการของพรรคพลังประชารัฐต่อจากนี้ คือ การรวบรวมเสียง ส.ส. ให้เกิน 250 เสียงเพื่อให้รัฐบาลทำงานไปได้อย่างราบรื่น และเกิดความชอบธรรม
ขณะที่ฝั่งของฝ่ายต่อต้านอำนาจ คสช.ที่รวมตัวกัน 7 พรรค 245 เสียง ประกอบด้วย เพื่อไทย 136 เสียง, อนาคตใหม่ 80 เสียง, เสรีรวมไทย 10 เสียง, ประชาชาติ 7 เสียง, เศรษฐกิจใหม่ 6 เสียง, เพื่อชาติ 5 เสียง และพลังปวงชนไทย 1 เสียง
ความพยายามก่อนหน้านี้ของ พรรคอนาคตใหม่ คือ จะเจรจาให้พรรคการเมืองร่วมกันปิดสวิตช์ ส.ว. คือ ส.ส. ร่วมกันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเอง โดยต้องได้ 376 เสียง จึงเท่ากับหมดโอกาสตามไปด้วย
เพราะเมื่อรวมกับอีก 6 พรรคที่ยังไม่ประกาศจุดยืนทางการ 121 เสียง คือ ประชาธิปัตย์ 52 เสียง, ภูมิใจไทย 51 เสียง, ชาติไทยพัฒนา 10 เสียง, ชาติพัฒนา 3 เสียง, พลังท้องถิ่นไท 3 เสียง, และ รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง จำนวนสูงสุดที่จะได้คือ 366 เสียง ไม่พอสำหรับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีโดยไม่ใช้เสียง ส.ว. (โดยที่ในกลุ่ม 6 พรรคนี้ ก็มีบางพรรคที่มีแนวโน้มจะเข้าร่วมกับขั้วพลังประชารัฐด้วย)
ทางออกที่ยังเหลืออยู่จึงน่าจะอยู่ที่การร้องเรียนเรื่องวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีผลให้ 11 พรรคการเมือง ที่ได้ ส.ส.ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 71,000 คะแนน ได้รับการจัดสรร ส.ส.ด้วย
แต่จะทันหรือไม่กับการเปิดประชุมสภา เพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นลำดับต่อไป
HOME PAGE
อ้างอิง https://workpointnews.com
HOME PAGE
อ้างอิง https://workpointnews.com
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น